Skip to main content

Drop outs from Thai formal education


เมื่อครั้งเรียน นบก. อ.กฤษณพงศ์ ได้บรรยายถึงการตกหล่นของนักเรียนในระบบการศึกษาจำนวนมาก (อย่างที่ฟังแล้วก็น่าตกใจ) และเมื่อได้เชิญอาจารย์มาเป็นที่ปรึกษาให้พวกเราตอนทำแผน Coding อาจารย์ก็พูดถึงประเด็นนี้อีกครั้ง จึงได้คิดว่าอยากจะลองหาข้อมูลไว้เพื่อเป็นข้อมูลประกอบ

ปัจจุบันคนกำลังจับตามองว่าการศึกษาในระบบ โดยเฉพาะอุดมศึกษามีความสำคัญลดน้อยลง และเห็นว่ามีผู้คนจำนวนมากมายที่ออกจากระบบการศึกษาไประหว่างทางแต่สามารถประสบความสำเร็จในระดับสูงได้ เช่น Bill Gates, Mark Zuckerberg และ Steve Jobs ทำให้มีแนวคิดที่ว่าการออกจากระบบการศึกษากลางทางไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายอะไร แต่จริง ๆ แล้วอุดมศึกษาเราไม่ได้ออกแบบไว้ว่าเมื่อจบหนึ่งช่วง (เช่นหนึ่งเทอม หรือหนึ่งปีการศึกษา) แล้วผู้เรียนจะสามารถไปทำอะไร (จริง ๆ ตอนนี้อุดมศึกษาก็เริ่มทำแบบนี้บ้างแล้ว เช่นการให้ define Stage LO หรือ Year LO แต่ยังเป็นช่วงเริ่มต้นมาก) ทำให้การออกไประหว่างทาง บางทียังไม่ได้มีความสามารถในการทำงานจริง ๆ แต่ที่เป็นปัญหาหนักกว่าคือการออกไปกลางคันในช่วงการศึกษาพื้นฐานและอาชีวศึกษา 

การออกจากระบบการศึกษาไประหว่างทางส่งผลเสียด้วยกันหลายอย่างจนอยากจะเรียกว่าเป็น vicious cycle of poverty เป็นการส่งต่อความจนและความยากลำบากของชีวิตจากรุ่นสู่รุ่น การออกจากการศึกษาไปกลางทาง ทำให้มีทักษะการทำงานไม่มากนัก มีโอกาสเลือกงานและเส้นทางอาชีพได้จำกัด ทำให้มีเงินเดือนและความมั่นคงในงานน้อยกว่า ส่งผลให้รุ่นลูกมีความเป็นอยู่ และโอกาสในการเรียนรู้น้อยกว่าคนอื่น และเป็นแบบนี้จากรุ่นสู่รุ่น (ทำให้สถาบันการศึกษาหลายที่ส่งเสริมนักศึกษาที่เป็น First Generation College เพื่อให้หลุดพ้นจาก vicious cycle นี้)

สาเหตุของการออกจากระบบการศึกษากลางคันมีด้วยกันหลายประการ แต่สาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งคือปัญหาความยากจน ผู้เรียนบางคนต้องเข้าสู่ภาคแรงงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ประกอบกับค่าเล่าเรียนโดยเฉพาะภายหลังจากการศึกษาภาคบังคับที่ค่อนข้างสูง ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถส่งเรียนได้ มีพี่คนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่าเมื่อพ่อแม่ไม่สามารถส่งเสียเลี้ยงดูลูกได้ เด็กผู้ชายมักจะถูกพาไปอยู่ที่วัด กลุ่มนี้นับว่าโชคดีที่สุด เพราะมีอาหารทาน และมีโอกาสได้เรียนหนังสือ กลุ่มเด็กผู้หญิงบางครั้งจะถูกส่งไปเป็นโสเภณี และอาจไม่ได้มีโอกาสเรียนหนังสือ หรือบางครั้งพ่อแม่ก็เอาไปขายต่อให้คนอื่นเลย 

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก ดังเช่นที่ School of Change Maker และ รายงานการศึกษาไทย พ.ศ. 2561 ได้กล่าวไว้ เรื่องหนึ่งคือระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์เรื่องความหลากหลายของผู้เรียน เช่น แม่วัยรุ่น กลุ่มผู้มีความต้องการพิเศษ (เพื่อนคนหนึ่งใช้คำว่า Complex learner ซึ่งฟังแล้วดูไม่ bias และอธิบายความต้องการของกลุ่มนี้ได้ดี) เด็กเกเร เด็กเรียนวิชาการไม่เก่ง เด็กถูก bully เด็กที่ติดคุก เด็กที่เบื่อระบบการศึกษา เบื่อครู หรือเบื่อโรงเรียน เป็นต้น นอกจากนี้การลาออกกลางทางยังอาจเกิดจากปัญหาการเจ็บป่วย การปรับตัวของนักเรียน และการอพยพติดตามผู้ปกครอง เป็นต้น

สภาการศึกษาได้ทำรายงานสรุปเกี่ยวกับสถิติเกี่ยวกับสถิติเกี่ยวกับผู้เรียนในแต่ละระดับ (ปี พ.ศ. 2556 - 2560) เอาไว้ในบทที่ 7 ของรายงานการศึกษาไทย พ.ศ. 2561 และสำนักงานเศรษฐกิจแห่งชาติได้เก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเอาไว้ในบางส่วน

รายงานสภาการศึกษาไทยได้ชี้ให้เห็นถึงจำนวนคนที่มีโอกาสเข้าศึกษาตามช่วงชั้นที่เหมาะสม ในช่วงการศึกษาภาคบังคับ (ตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 กำหนดไว้ว่าต้องเรียนจบมัธยมศึกษาตอนต้น) มีอัตราส่วนผู้เรียนต่อประชากรในช่วงวัยนั้น (6-14 ปี) มากกว่าร้อยละ 94 โดยในปี พ.ศ.​2560 มีถึงร้อยละ 98.8 แต่อัตราส่วนของของช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายอยู่ในช่วงเพียงร้อยละ 70-78 โดยมีแนวโน้มลดลง ในปี พ.ศ.​2560 อยู่ที่เพียงร้อยละ 71 เท่านั้น แสดงว่ามีคนอีกเกือบร้อยละ 30 ที่เริ่มเข้าสู่ภาคแรงงานหลังจากเรียนจบการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งยังไม่มีทักษะวิชาชีพที่จะรองรับอนาคตมากนัก

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้รวบรวมจำนวนนักศึกษาออกกลางคันจากโรงเรียนของ สพฐ ไว้ จะเห็นได้ว่ามีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัดใน พ.ศ.​2551 จากจำนวนหลายหมื่น โดยเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี พ.ศ. 2552 จนในปี พ.ศ.​2560 ลดลงเหลือประมาณ 1000 คนทั้งในช่วงประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย โดยมีจำนวนสูงที่สุดในช่วงมัธยมต้น (ม1 - ม3) รองลงมาเป็นมัธยมปลาย ในส่วนของประถมศึกษามีจำนวนนักศึกษาออกกลางคันปีละ 100-200 คน

ข้อมูลจากสำนังกานสถิติแห่งชาติอีกอันที่น่าสนใจคือการเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา (ไม่ได้ระบุสังกัดของโรงเรียนและสถานศึกษา แต่ไม่นับมหาวิทยาลัยเปิด) ปี พ.ศ. 2552-2561พบว่านักเรียนเรียนต่อชั้น ม. 1 กว่าร้อยละ 99 มาโดยตลอด แนวโน้มนี้ลดลงเล็กน้อยในขณะที่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีคนเรียนต่อสายสามัญ (ม.4-6) ประมาณร้อยละ 56-58 และ อาชีวศึกษา (ปวช.) ประมาณร้อยละ 31-35 เท่านั้น ซึ่งก็นับประมาณอยู่ที่ร้อยละ 90 ของนักเรียนทั้งหมด แต่สถิติที่น่าตกใจที่สุดคือการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา คือระดับมหาิวทยาลัยและอาชีวศึกษา มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ จนในปี พ.ศ.​2560 มีเพียงร้อยละ 55 เท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยกว่าเดิมมาก โดยอาชีวะศึกษามีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ แต่เพิ่มกลับมาในปี พ.ศ.​2561 ในขณะที่อุดมศึกษามีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 94.76 ในปี พ.ศ.​2552 เป็นร้อยละ 55.78 ในปี พ.ศ.​2561 สำหรับโรงเรียนในสังกัด กทม. ไม่ได้มีสถิติที่เก็บไว้อย่างชัดเจน แต่พบว่ามีการออกกลางคันไม่มากนัก เนื่องจากส่วนมากเป็นโรงเรียนที่มีถึงการศึกษาภาคบังคับ 

นอกจากนี้สำนักงานอาชีวศึกษายังได้ทำข้อมูล drop-outs ของนักเรียน พ.ศ. 2561 เอาไว้แยกตามรายชั้นปี รายโรงเรียน และมีการระบุสาเหตุเอาไว้ พบว่ามีการออกกลางคันจำนวนมาก โดยสูงที่สุดคือ ปวช. 1 จำนวนถึงเกือบ 30,000 คน และ ปวช.​2 และ 3 อีกปีละประมาณ 20,000 คน เมื่อขึ้นมาถึง ปวส. จำนวน drop outs มีประมาณ 10,000 คน และลดลงเหลือประมาณชั้นปีละ 300 คน ในหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต โดยสาเหตุหลัก ๆ ในการออกกลางคันคือมีปัญหาครอบครัว (ไม่ใช่ปัญหายากจน) ไม่ลงทะเบียนเรียนในเวลาที่กำหนด เกรดเฉลี่ยสะสมไม่ถึงเกณฑ์ และการเข้าเรียนไม่ครบตามเกณฑ์ (ในปีแรกของช่วงชั้น เช่น ปวช 1 และ ปวส 1 พบว่ามีประเด็นเรื่องการขาดหลักฐานการสำเร็จการศึกษาด้วย)

จะเห็นได้ว่าถ้าเราต้องการพัฒนาทักษะเพื่อการทำงานเพื่อให้เรามี workforce ที่เข้มแข็งขึ้น อาจต้องมี enrichment program ให้กับนักเรียน จะเห็นว่าเรามี educational exit point เป็นจำนวนมากที่เราควรจะเตรียมนักเรียน นักศึกษาให้พร้อมกับการทำงานได้ดีขึ้น แม่ว่าจะไม่ได้ศึกษาในระบบต่อแล้ว มัธยมต้นน่าจะเป็นจุดหนึ่งที่มีความสำคัญมากเนื่องจากมีคนจำนวนมากหลุดจากระบบการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในระดับมัธยมศึกษา สายสามัญน่าจะมี critical point อยู่ที่นักเรียนชั้น ม.6 ในขณะที่อาชีวะศึกษาน่าจะอยู่ที่ ปวช.ทั้ง 3 ชั้นปี


👏 ขอบคุณ คุณป๋วยที่รู้จักกันจากที่ประชุมอนุกรรมการอำนวยการ Coding และ อ.โป้ง มจธ. สำหรับข้อมูล และแหล่งข้อมูลใน internet 








Comments